บทความ

โรคอัลไซเมอร์ กับ ภาวะสมองเสื่อม

บทความนี้เราจะไปเรียนรู้เรื่องอัลไซเมอร์กับภาวะสมองเสื่อมไปพร้อมๆ กัน ว่าแต่คงสงสัยกันใช่ไหมคะว่า สองโรคนี้ เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกันยังไง นับวันเราก็ยิ่งเจอผู้ป่วย อัลไซเมอร์กับภาวะสมองเสื่อม มากขึ้น

อัลไซเมอร์ (Alzheimer) เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมองซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ โดยไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ เพราะผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-Amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ

 

การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรม

 

 

โรคอัลไซเมอร์ กับ ภาวะสมองเสื่อม

โรคอัลไซเมอร์กับภาวะสมองเสื่อม (Dementia Syndrome) นั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งการเข้าใจความแตกต่างจะช่วยให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจการวินิจฉัยของแพทย์ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อม หมายถึง กลุ่มอาการผิดปกติที่เป็นผลมาจากการเสื่อมของสมองหลายส่วน ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามสาเหตุ ได้แก่

 

1. ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาให้หายขาดได้ พบประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด โดยสาเหตุมักเกิดจากโรคทางกาย เช่น หลอดเลือดสมองตีบตัน เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมองบางชนิด การขาดวิตามินบี 12 และโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน

 

2. ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาด พบมากถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม และมีโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุถึงร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือเป็นโรคที่ทำให้สมองเสื่อมคล้ายอัลไซเมอร์อีก 5 - 6  โรค

 

“ดังนั้น อัลไซเมอร์จึงเป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด”

 

 

กิจกรรมนันทนาการ ลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์

 

หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น อ่านหนังสือใหม่ๆ ทำอาหารเมนูใหม่ๆ ออกไปท่องเที่ยวสถานที่ใหม่ๆ พูดคุยกับคนใหม่ๆ เป็นต้น

มีกิจกรรมทางสังคมอยู่เรื่อยๆ เช่น นัดเจอเพื่อน กินข้าวกับครอบครัว

ลดความเครียดด้วยการหากิจกรรมผ่อนคลายสมอง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง คุยกับคนอื่น เป็นต้น

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว แอโรบิกเบาๆ หรือโยคะ เป็นต้น

 

โดยสรุปแล้ว อายุ ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น เพราะ สถิติในปัจจุบันพบว่ากลุ่มที่มีอายุราว 65 ปี พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 5  กลุ่มผู้ที่มีอายุราว 75 ปี พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ประมาณร้อยละ 15 และกลุ่มผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากถึงร้อยละ 40 ฉะนั้น จำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากคนเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้นนั่นเองค่ะ

 

 

 

ขอขอบคุณ

ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.bumrungrad.com/