บทความ

นอนไม่หลับมีผลอย่างไรกับสมอง

สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันจะพาไปทำความรู้จักกับ โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) เชื่อว่า หลายคนคงจะเคยได้ยินโรคนี้กันมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวเรามากๆ รู้หรือไม่ว่า การนอนหลับ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของสมอง คุณจะรู้ว่าการนอนไม่หลับจะมีผลกระทบกับคุณในช่วงกลางวัน และกลางคืน ทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างวัน และเป็นสาเหตุให้มีปัญหาในการทำงาน

 

       ในแต่ละคืนนั้นผู้ใหญ่ต้องได้นอนหลับเป็นเวลา 7 - 8 ชั่วโมง ส่วนเด็กก็ต้องการนอนมากถึง 10 ชั่วโมง เราเริ่มรู้สึกง่วงนอนเมื่อร่างกายส่งสัญญาณให้รู้ว่าถึงเวลาหลับ โดยจะทำงานสัมพันธ์กับสัญญาณจากภายนอกเช่นความมืด เคมีที่เกี่ยวข้องกับการหลับในร่างกายเริ่มหลั่งออกมา เช่น Adenosine และ Melatonin ทำให้หายใจช้าลง ชีพจรเต้นช้าลง กล้ามเนื้อผ่อนคลาย พร้อมที่จะส่งเราเข้านอน

 

       กระบวนการกำจัดของเสียในสมองจะไม่ได้ทำงานอยู่ตลอดเวลา แต่จะทำงานก็ต่อเมื่อร่างกายหลับเท่านั้น โดยสมองจะเริ่มหดตัวลงเพื่อทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเซลล์มากขึ้น ทำให้ของเหลวไหลผ่านได้ดีและล้างของเสียออกไปจากสมองได้เร็ว

 

นอนไม่หลับ เกิดจากอะไร ?

อาการนอนไม่หลับ อาจเกิดจากปัจจัยทางด้านร่างกายและจิตใจ หรือโรคประจำตัวที่เป็นเหตุให้นอนไม่หลับเรื้อรัง โดยอาการนอนไม่หลับชั่วคราว อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

 

นาฬิกาชีวภาพของร่างกายถูกรบกวน เช่น อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายยังปรับจังหวะเวลาให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่มีเวลา (Time Zones) แตกต่างกันไม่ได้ เนื่องจากร่างกายยังเคยชินกับเวลาในสภาพแวดล้อมเดิมอยู่ (Jet Lag) หรือการทำงานที่ต้องเปลี่ยนเวลาการนอนอยู่เสมอ

การใช้ยาบางชนิด เช่น Pseudoephedrine, Terbutaline, Phentermin

การดื่มเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์  แม้ว่าแอลกอฮอล์จะทำให้รู้สึกง่วง แต่กลับรบกวนการหลับลึกและทำให้ตื่นกลางดึกได้ เป็นต้น

 

 

นอนไม่หลับ ทำอย่างไรดี ?

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นการป้องกันปัญหาการนอนไม่หลับที่สามารถทำได้ง่ายและส่งผลดีต่อร่างกาย ทั้งยังสามารถป้องกันปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจเกิดตามมาได้อีกด้วย เช่น

 

  • ปรับพฤติกรรมการนอน โดยเข้านอนให้เป็นเวลา ไม่งีบหลับในระหว่างวัน หรือนอนเมื่อง่วงนอน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักช่วงก่อนนอน
  • ตรวจสอบยาที่รับประทานอยู่ว่ามียาชนิดใดที่อาจเป็นเหตุให้นอนไม่หลับหรือไม่
  • จัดห้องให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการนอน เช่น เงียบ มืด มีอุณหภูมิที่เหมาะสม
  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ในช่วงเย็นหรือก่อนเข้านอน
  • ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่สามารถส่งผลให้นอนหลับได้ยากขึ้น เป็นต้น

 

 จากที่กล่าวไปข้างต้น อาการที่มักจะนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ได้แก่ การเข้านอนแล้วหลับยาก การตื่นตอนกลางคืนบ่อยๆ และไม่สามารถกลับไปนอนต่อได้ การตื่นก่อนเวลาเช้าตรู่ รวมไปถึงการนอนที่ไม่รู้สึกสดชื่นเมื่อตื่o

 

       อย่างไรก็ตาม หากท่านลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ยังเกิดปัญหานอนไม่หลับเช่นเดิม แนะนำให้ท่านเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ และรับการรักษาอย่างถูกต้องตามลำดับ

 

ขอขอบคุณ

ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.bumrungrad.com/