บทความ
ภาวะไขมันในเลือดสูงอันตราย อย่าชะล่าใจ
ภาวะไขมันในเลือดสูงอันตราย อย่าชะล่าใจ
ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง เป็นภาวะที่ร่างกายมีไขมันในเลือดมากกว่าในภาวะที่ร่างกายเป็นปกติซึ่งไขมันที่สูงนั้นอาจเป็นไขมันประเภทโคเลสเตอรอล (Cholesterol) หรือ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ก็ได้ โดยภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง เรียกว่า Hyperlipidemia ซึ่งจะมีการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ซึ่งยิ่งมีมากเท่าไรจะยิ่งทำให้เลือดไหลได้ลำบากมากขึ้นเท่านั้น และถ้ามีมากจนอุดตันหลอดเลือดก็จะยิ่งมีอันตรายมากขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดตีบอุดตัน เลือดไหลไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ค่าปกติของไขมันในเลือด
Total cholesterol levels:
ระดับที่ต้องการ: ต่ำกว่า 200 mg/dL
สูงปานกลาง: 200 – 239 mg/dL
สูง: มากกว่า 240 mg/dL
LDL (ไขมันชนิดเลว) cholesterol levels:
ระดับที่ต้องการสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือมีความเสี่ยงสูง: ต่ำกว่า 70 mg/dL
ระดับที่ต้องการ for people at risk of heart disease: ต่ำกว่า 100
ระดับที่ต้องการ: 100 – 129
สูงปานกลาง: 130 – 159
สูง: 160 – 189
HDL (ไขมันชนิดดี) cholesterol levels:
ผลไม่ดี: ต่ำกว่า 40 mg/dL
ค่าที่ยอมรับได้: 40 – 59
ระดับที่ต้องการ: 60 or สูงกว่า
Triglyceride levels:
ระดับที่ต้องการ: ต่ำกว่า 150 mg/dL
สูงปานกลาง: 150 – 199
สูง:สูงกว่า 200
ผู้ใหญ่ที่ค่าไขมันปกติควรจะตรวจซ้ำทุก 5 ปี หากไขมันในเลือดสูงควรตรวจซ้ำอีก 2-6 เดือน
สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
· ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เกิดจากการรับประทานอาหารประเภทไขมันเป็นประจำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไขมันที่ย่อยสลายไม่ทันจึงไปสะสมอยู่ในเส้นเลือด ซึ่งยิ่งมีจำนวนมากก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย
· ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังกายก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยในการเผาผลาญไขมันส่วนเกินต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากขาดการออกกำลังกายย่อมหมายถึงการขาดตัวช่วยอีกทางหนึ่งในการที่จะเผาผลาญไขมันนั่นเอง
· การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ เพราะยิ่งเป็นการส่งเสริมทำให้เกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดมากขึ้น
· รับประทานอาหารที่มีไขมันโคเลสเตอรอลสูง หรือรับประทานอาหารมากเกินความจำเป็นของร่างกาย เนื่องจากไขมันที่สะสมอยู่ก่อนหน้านั้นยังไม่สามารถย่อยสลายได้หมด เมื่อมีการรับประทานอาหารชุดใหม่เข้าไปโดยเฉพาะอาหารประเภทไขมันก็จะเป็นการสะสมไขมันส่วนเกินให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากร่างกายเผาผลาญไขมันไม่ทันนั่นเอง
· โรคหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น โรคไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคเบาหวาน โรคไต ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด เป็นต้น ซึ่งอาจส่งภาวะแทรกซ้อนให้มีการสะสมไขมันในเส้นเลือดได้
· พันธุกรรม (Familial hypercholesterolemia: FH) เป็นภาวะที่ระดับคอเลสเตอรอลเกิดจากกรรมพันธุ์ โดยที่ระดับคอเลสเตอรอลแอลดีแอล (LDL) ในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากผลกระทบที่ยีนมากกว่า 100 ยีนในร่างกาย มีผลต่อการจัดการระดับคอเลสเตอรอลของร่างกาย กล่าวคือ ได้รับภาวะนี้จากกรรมพันธุ์ของพ่อหรือแม่ ซึ่งทำให้เกิดโรคหัวใจหลอดเลือดตั้งแต่เด็ก ประมาณร้อยละ 10
สัญญาณเตือนว่ามีไขมันในเลือดสูง
· มือสั่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เนื่องจากการมีไขมันในหลอดเลือดจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้นโดยการบีบตัวเพื่อนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้นจึงเกิดอาการใจสั่น และมือสั่น หัวใจเต้นเร็ว หรืออาจจะมีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้าร่วมด้วย เนื่องจากไขมันที่อุดตันหลอดเลือดทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี จึงไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงที่ปลายมือปลายเท้าได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
· ปวดศีรษะได้ง่ายและปวดศีรษะมาก เนื่องจากไขมันที่อุดตันในหลอดเลือดทำให้ความดันเลือดไม่คงที่ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด วิงเวียนเวลาที่เปลี่ยนท่าลุกหรือนั่งเร็วๆ หรือเวลาที่ตื่นนอน หรือในบางครั้งอาจจะส่งผลให้เกิดการวูบหมดสติ และล้มลงจนเป็นอันตรายได้
· มีอาการเวียนศีรษะ และหน้ามืด คนที่มีไขมันในเลือดสูงมักจะมีอาการเวียนศีรษะหน้ามืดเหมือนจะเป็นลมอยู่บ่อยครั้ง เมื่อต้องทำกิจกรรมหรือออกแรงมาก ๆ ก็จะเหนื่อยง่ายกว่าปกติและอาจจะเป็นลม จึงทำให้ไม่อยากออกกำลังกาย และหากยิ่งรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเข้าไปก็จะยิ่งทำให้เกิดไขมันส่วนเกินในเลือดสูงยิ่งขึ้นไปอีก
· มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ คนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงทำให้การบีบตัวของหัวใจเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งในเลือดนั้นจะมีการลำเลียงออกซิเจนไปที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นเมื่อร่างกายต้องการใช้ออกซิเจนในเวลาที่มีการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายจึงทำให้ได้รับไม่เพียงพอ จนรู้สึกว่าเหนื่อยง่าย หายใจไม่ทันนั่นเอง
· มีอาการแน่นหน้าอก ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงจนทำให้เกิดก้อนไขมันในหลอดเลือด อาจมีบางช่วงที่ก้อนไขมันนั้นไปอุดตันที่หลอดเลือดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ทำให้หัวใจต้องพยายามบีบตัวให้แรงขึ้นเพื่อให้ร่างกายและสมองยังได้รับเลือดไปเลี้ยงอย่างเพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก
โรคและอันตรายที่เกิดจากการมีไขมันในเลือดสูง
การมีไขมันในเลือดสูงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคที่สำคัญคือ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักจะเป็นอันตรายต่อชีวิตทั้งสิ้น
1.โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease: CAD/Coronary Heart Disease: CHD) เกิดจากการเกาะของคราบไขมัน (Plaque) ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการสะสมของคอเลสเตอรอลและสารต่าง ๆ ภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดตีบและอุดตันจนปิดกั้นการไหลเวียนของกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หรือรุนแรงถึงขั้นหัวใจวาย หากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ มีอาการดังนี้
- เจ็บหน้าอก (Angina) ผู้ป่วยจะรู้สึกแน่นหน้าอกบริเวณกลางหรือด้านซ้ายของหน้าอกลามไปจนถึงช่วงแขน คอ กราม ใบหน้าหรือช่องท้อง และอาจบรรเทาลงได้เมื่อนั่งพัก หรือหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียด โดยสาเหตุมักเกิดจากการที่หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย หรือความเครียด เป็นต้น
- หายใจติดขัด ผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจติดขัดหรือหอบเหนื่อยรุนแรง หากหัวใจไม่ได้รับเลือดที่เพียงพอในการส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- หัวใจวาย หลอดเลือดอุดตันอาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจวายและอาจถึงตายได้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันเวลา ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นหน้าอกและปวดบริเวณหัวไหล่หรือแขน ประกอบกับการหายใจติดขัดและเหงื่อออกก่อนเกิดภาวะหัวใจวาย หากผู้ป่วยมีภาวะความดันตกหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติและเสียชีวิตได้
- หัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยเกิดขึ้นในขณะที่หัวใจอ่อนแรงจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจติดขัดจากภาวะน้ำท่วมปอด เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือหากมีอาการน้ำท่วมปอดรุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
2. โรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรืออัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองประเภท Ischemic Stroke เป็น “ภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน” หรือ “ภาวะสมองขาดเลือด” พบได้ประมาณ 80% ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดจากการสะสมของคราบไขมัน หินปูน ที่ผนังหลอดเลือดชั้นในจนหนานูน แข็ง ขาดความยืดหยุ่น ทำให้รูของหลอดเลือดค่อยๆ ตีบแคบลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการลำเลียงเลือดลดลง หรืออาจเกิดจากลิ่มเลือดจากหัวใจ หรือการปริแตกของผนังหลอดเลือดหลุดมาอุดตันหลอดเลือดในสม
อาการแสดงของอัมพฤกษ์-อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง) ได้แก่ หน้าเบี้ยว แขนขาชาหรืออ่อนแรง พูดไม่ชัด พูดไม่ออก การมองเห็นผิดปกติ เวียนศีรษะ เดินเซ ซึมลง หรือปวดศีรษะรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
อัตราการเสียชีวิตของผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
ในผู้ที่มีไขมันในเลือดที่สูงมาก ๆ อัตราการเสียชีวิตมักจะมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยจากข้อมูลทางสถิติกระทรวงสาธารณสุข (2561) พบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 432,943 คน มีอัตราการเสียชีวิต 20,855 คนต่อปี หรือชั่วโมงละ 2 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติอีกด้วย
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเจาะเลือดเพื่อตรวจไขมันในเลือด ผู้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการมีไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ
ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
ผู้ที่มีหลักฐานว่ามีโรคหลอดเลือดตีบ เช่น หลอดเลือดขาหรือหัวใจตีบ
ผู้ที่เป็นเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
ผู้ที่มีประวัติพ่อแม่พี่หรือน้องเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดก่อนวัย
ผู้ป่วยโรคอ้วนลงพุง
ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังบางชนิดที่พบว่ามีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสูง เช่น โรครูมาตอยด์ โรค SLE Psoriasis
ผู้ที่ไตเสื่อมอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 60
ผู้ที่ตรวจร่างกายแล้วพบว่ามีหลักฐานว่าไขมันสูงในครอบครัว
การป้องกันไขมันในเลือดสูง
ไขมันในเลือดสูงสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และพฤติกรรมในการใช้ชีวิตบางอย่าง อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไขมันอิ่มตัวสูงในปริมาณมาก เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป ของทอด ผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานซ์ ได้แก่ อาหารที่มีส่วนประกอบ หรือใช้น้ำมันเติมไฮโดรเจนในการปรุง เช่น อาหารขยะ ครีมเทียม มาการีน ขนมขบเคี้ยว และอาหารแปรรูปแช่แข็ง เป็นต้น
- รับประทานไขมันดีในปริมาณที่พอเหมาะ ร่างกายไม่สามารถขาดไขมันได้ จึงควรหันมารับประทานไขมันดีในปริมาณที่พอเหมาะ โดยไขมันดีในอาหารได้แก่ ถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด ปลาทะเลน้ำลึก เป็นต้น
- รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชให้มากขึ้น มีกากใยในปริมาณมากอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในร่างกาย และช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีให้ลดลงได้
- ควบคุมน้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากก็จะยิ่งทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงต่าง ๆ รวมถึงภาวะคอเลสเตอรอลสูง ดังนั้นการมีน้ำหนักที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันระดับคอเลสเตอรอลสูงและโรคร้ายแรงอื่นได้
- เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะช่วยให้ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะคอเลสเตรอลสูง รวมถึงโรคเกี่ยวหัวใจและหลอดเลือดลดลงได้
การเข้ารับการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเป็นประจำ จะช่วยให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงของไขมันในเลือดสูงได้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
การรักษาไขมันในเลือดสูง
การรักษาเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีผลวินิจฉัยแน่ชัดแล้วว่าผู้ป่วยมีระดับไขมันในเลือดสูง โดยการรักษาอาจใช้เพียงการดูแลเรื่องอาหารให้ดีขึ้นหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่บางรายอาจต้องใช้การรักษาด้วยยาควบคู่กันไปด้วย เพื่อช่วยให้ระดับไขมันในเลือดค่อย ๆ ลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ
การรักษาโดยการใช้ยา
การรักษาคอเลสเตอรอลสูงด้วยยาจะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีเงื่อนไขสุขภาพ อายุ ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือความแข็งแรงของผู้ป่วยในขณะนั้น เนื่องจากยาบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยยาที่แพทย์ในประเทศไทยมักสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้แก่
- ยากลุ่มสเตติน (Statins) ยาในกลุ่มนี้ที่มีใช้ในประเทศไทยได้แก่ Simvastatin, Atorvastatin และ Rosuvastatin เป็นยาที่ใช้ในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอล โดยกลไกของยาจะเข้าไปขัดขวางสารบางชนิดที่ตับใช้เพื่อผลิตคอเลสเตอรอล ซึ่งจะช่วยให้ตับกำจัดคอเลสเตอรอลในเลือดได้มากขึ้น
- ยากลุ่มไฟเบรต (Fibrate) ได้แก่ Fenofibrate และ Gemfibrozil เป็นยาที่เข้าไปช่วยลดปริมาณการผลิตคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีและช่วยเร่งกระบวนการกำจัดไตรกลีเซอไรด์ออกจากร่างกาย
- ยาอีเซทิไมบ์ (Ezetimibe) ยาลดไขมันที่มีคุณสมบัติในการขัดขวางการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารและในน้ำย่อยภายในลำไส้เข้าสู่เลือด เป็นยาที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายากลุ่มสเตติน และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า โดยยาชนิดนี้มักใช้กับผู้ที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่มสเตตินได้ หรือผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจนต้องเปลี่ยนยา
- อาหารเสริมกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 Fatty Acid Supplements) กรดไขมันโอเมก้า 3 จัดเป็นไขมันชนิดดีที่อาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดได้
โดยในการใช้ยาเหล่านี้ แพทย์จะต้องทำการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์ตามนัดและเอาใจใส่เรื่องการเลือกรับประทานอาหารให้มากขึ้นและออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ