บทความ

ปัจจัยที่ทำให้ CoQ10 ในร่างกายลดลง

   CoQ10 เป็นสารสำคัญที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเองได้จากกระบวนการสังเคราะห์ไขมันคอเลสเตอรอลที่ตับ และมีคุณสมบัติละลายได้ในไขมัน มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานระดับเซลล์ของร่างกาย ช่วยปกป้องเยื่อหุ้มเซลล์ และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์อีกด้วย

 

   แต่สภาวะของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป คืออายุที่เพิ่มขึ้น และโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ที่จำเป็นต้องได้รับประทานยาลดไขมันในกลุ่ม สแตติน (Statin) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ระดับของ CoQ10  ในร่างกายลดลงได้ เนื่องจากขั้นตอนการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไขมันคอเลสเตอรอล ย่อมจะมีผลยับยั้งการสร้างโคเอนไซม์คิวเท็นไปด้วยนั่นเอง

 

  ในผู้สูงอายุ และ ผู้ที่ใช้ยากลุ่ม Statin  ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้มีภาวะปวดกล้ามเนื้อ แขน ขา อ่อนแรง ทั้งจากการที่ร่างกายสร้าง CoQ10 ได้น้อยลงตามอายุที่สูงขึ้น และจากการที่ยากลุ่ม Statin ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไขมันคอเลสเตอรอลทำให้การสังเคราะห์ CoQ10 ลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้นบางกรณีแพทย์จึงมีการพิจารณาแนะนำผู้ป่วยโรคหัวใจและไขมันในเลือดดังกล่าวให้รับประทาน CoQ10 เสริม เพื่อลดการเกิดผลกระทบดังกล่าวนั่นเอง

 

  CoQ10 ยังมีส่วนช่วยในการลดการเกิดอนุภาคออกซิไดซ์ของ LDL ที่เป็นคอเลสเตอรอลตัวที่ไม่ดีในกระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดอุดตันทำให้หัวใจขาดเลือดได้ และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลตัวที่ดี คือ HDL ในกระแสเลือด ซึ่งมีหน้าที่ในการขับคอเลสเตอรอลที่เกินความต้องการออกจากร่างกาย ดังนั้นยิ่งร่างกายมี HDL สูงจึงยิ่งเกิดผลดีต่อร่ายกายได้อีกด้วย การที่ร่างกายมี CoQ10 อย่างเพียงพอ จึงมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อคงความสมดุลและชะลอการเสื่อมสภาพของร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

 

**อ้างอิงข้อมูลยาที่ควรระมัดระวังการใช้ร่วมกับโคเอนไซม์คิวเทน : https://www.honestdocs.co/coenzyme-q10