บทความ

โรคกระดูกพรุน ภัยอันตรายสำหรับวัยทอง

โรคกระดูกพรุน ภัยอันตรายสำหรับวัยทอง ซึ่งโรคนี้ถือเป็นภัยเงียบที่น่ากลัว นั่นก็เพราะว่า โรคกระดูกพรุนมักเป็นภัยเงียบที่เกิดการสะสมในร่างกายมานาน โดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบ เพราะไม่มีอาการแต่อย่างใด จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุกระดูกหัก จึงทำให้คนจำนวนมากไม่ทราบว่า สภาวะกระดูกของตนเองนั้นบางไปมากน้อยเพียงใดแล้ว และไม่ได้สนใจที่จะดูแล ป้องกันอย่างจริงจัง

 

      เมื่อเวลาผ่านไป อายุเริ่มมากขึ้น ความแข็งแรงของกระดูกย่อมเสื่อมถอยลง การดูแลใส่ใจควรมีมากขึ้น แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ กว่าจะรู้ก็เมื่อกระดูกพรุนและเกิดการสึกหรอเกินกว่าจะดูแล โดยเฉพาะสตรีวัยหมดระดูจะเป็นช่วงที่มีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ซึ่งในวัยหมดระดูจะมีการลดลงของฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า “เอสโตรเจน”

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)     

   แม้โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่พบได้กับทุกเพศ ทุกวัย และพบมากขึ้นเมื่อมีอายุมาก ถ้าหากเรารู้ถึงปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและช่วยป้องกันการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนได้

 

ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

เพศหญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

มีรูปร่างผอมบาง

เคยผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้างก่อนอายุ 45 ปี เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ จึงเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว

 

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถปรับเปลี่ยนได้

  • การบริโภคแคลเซียมไม่เพียงพอ
  • สูบบุหรี่ สารพิษนิโคตินเป็นตัวทำลายเซลล์สร้างมวลกระดูก ทำให้กระดูกบางลง
  • ดื่มกาแฟ ชา แอลกอฮอล์มากกว่า 3 แก้วต่อวัน หรือน้ำอัดลมมากกว่า 4 กระป๋องต่อสัปดาห์
  • ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์นานเกิน 3 เดือน
  • มีภาวะเสี่ยงต่อการหกล้ม
  • ขาดการออกกำลังกาย

       การวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน ใช้ผลการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วย วิธี Dual Energy X-Ray Absorptiometry (DEXA)

 

 

 การรักษาภาวะกระดูกพรุน แบ่งเป็น 2 วิธี คือ

1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา โดยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว และเน้นภาวะโภชนาการที่มีแคลเซียม และวิตามินดีที่เพียงพอต่อร่างกาย การออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยสร้างกระดูกแล้ว ยังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ ตลอดจนช่วยเรื่องการทรงตัวด้วย

2. การรักษาโดยใช้ยา มีหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ดูแล และพิจารณาถึงประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และความสะดวกในการใช้ยาของผู้ป่วย

 

 

 วิธีป้องกันโรคกระดูกพรุน

1)  รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง

2)  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

3)  งดสูบบุหรี่

4)  หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์รวมถึงสารคาเฟอีน เนื่องจากมีผลทำลายกระดูก

5)  ตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจวัดกระดูกเพื่อป้องกันการเสื่อมแต่เนิ่นๆ

 

       ดังนั้น การป้องกัน คือ ทางเลือกที่ดีที่สุด ทุกท่านควรตระหนักว่า ภาวะกระดูกพรุนเป็นภัยเงียบ เราควรดูแลสุขภาพของกระดูกตั้งแต่เด็กหรือก่อนวัยหมดระดู หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและควรได้รับการตรวจคัดกรองกระดูกพรุนในกลุ่มเสี่ยง ได้รับการดูแล รักษา ป้องกันกระดูกอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

 

 

 

ขอขอบคุณ

ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.bangpakokhospital.com/