บทความ

CoQ 10 คืออะไร ?

มาทำความรู้จักกับ Coenzyme Q10 หรือ CoQ10

Coenzyme Q10 หรือ CoQ10 เป็นสารคล้ายวิตามินที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีบทบาทในการเพิ่มพลังงานให้แก่เซลล์ที่ใช้เป็นพลังงานในร่างกาย เป็นสารสำคัญในการสังเคราะห์ ATP ซึ่งเปรียบได้กับขุมพลังงานของเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย CoQ10 เป็นตัวต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ จึงมีส่วนในการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ 

 

CoQ10 เป็นสารที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองโดยธรรมชาติและมีความจำเป็นต่อร่างกาย CoQ10 จะพบในเซลล์ทุกเซลล์ที่มีชีวิตในร่างกายโดยจะอยู่ที่ส่วนเยื่อหุ้มของไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial) ที่ทำหน้าที่ในการผลิตพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ในรูปของ ATP (Adenosine Triphosphate) ซึ่งเป็นพลังงานพื้นฐานของเซลล์ต่าง ๆ นั่นเอง

 

    CoQ10 จะถูกพบมากในอวัยวะที่ต้องการพลังงานสูงซึ่งจะมีจำนวนไมโตคอนเดรียเป็นจำนวนมาก เช่น หัวใจ ตับ กล้ามเนื้อ สมอง ส่วนอวัยวะอื่น ๆ ก็พบได้เช่นกันแต่พบค่อนข้างน้อย เนื่องจากอวัยวะนั้น ๆ ต้องการพลังงานน้อยจึงมีจำนวนไมโตคอนเดรียน้อย ทำให้ CoQ10 ที่อยู่ในส่วนเยื่อหุ้มของไมโตคอนเดรีย น้อยตามไปด้วยนั่นเอง

 

ทั้งนี้ การที่ระดับของ CoQ10 ลดลง จะส่งผลเสียให้ร่างกายไม่สามารถแปลงพลังงานจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ให้อยู่ในสภาพที่ร่างกายจะนำไปใช้ได้ จึงทำให้เกิดการเจ็บป่วย ร่างกายอ่อนเพลีย และอาจเกิดระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมสภาพตามมาได้อีกด้วย

 

ร่างกายได้รับ CoQ10 มาจากที่ไหนบ้าง

CoQ10 ตามธรรมชาติของร่างกาย สามารถเกิดขึ้นเองภายในเซลล์ของอวัยวะที่ต้องการพลังงานสูงเช่น หัวใจ ตับ ไต และยังพบที่เซลล์อื่น ๆ อีก เช่น ที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า และหนังแท้ ซึ่งก็จะพบในจำนวนที่แตกต่างกันออกไปตามจำนวนของไมโตคอนเดรีย (Mitochondrial) เนื่องจาก CoQ10 อยู่ที่ส่วนเยื่อหุ้มของไมโตคอนเดรียนั่นเอง

 

 

นอกจากนี้ร่างกายยังสามารถได้รับ CoQ10 จากการรับประทานอาหารดังนี้

 

อาหารจำพวกปลาที่ส่วนเนื้อมีไขมันเป็นองค์ประกอบมาก เช่น น้ำมันปลา ปลาทะเลน้ำลึก ปลาทู ปลาซาบะ ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน

เนื้อสัตว์ประเภทไก่ ไข่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ตับ ไต หัวใจ

ถั่ว เมล็ดธัญพืชที่ไม่ขัดขาว

ผลไม้เปลือกแข็งผักเช่น บล็อคโคลี่ ปวยเล้ง 

อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนม น้ำมันถั่วเหลือง ผัก รำข้าว ซีเรียล

 

CoQ10 มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

คุณสมบัติเด่นของ CoQ10 คือเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ สามารถชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกายได้ โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่ CoQ10 จะช่วยสร้างพลังงานให้กับผิวเพื่อใช้ในการแบ่งเซลล์ผิวหนังใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นทดแทนเซลล์ผิวเก่าที่เสื่อมสภาพไป ทำให้ริ้วรอยต่าง ๆ สามารถลดลงและเลือนหายไปได้

และนอกเหนือจากคุณสมบัติในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และชะลอความเสื่อมโทรมของร่างกายได้แล้วนั้น CoQ10 ยังมีคุณสมบัติในการมีส่วนช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น เสริมระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันและรักษาโรคเหงือก โรคความดันโลหิตสูง โรคคลอเรสเตอรอลสูง และ ยังมีประโยชน์อีกมากมาย ดังนี้

 

CoQ10 สารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้นจึงมีคุณสมบัติเกี่ยวกับการลดการเกิดริ้วรอยตามวัย และชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในแสงแดดได้ โดย CoQ10 เป็นสารต้านออกซิเดชั่น (Antioxidant) จะไปป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่จะทำให้อนุมูลอิสระไม่สามารถที่จะทำอันตรายต่อผิวหนังได้ ทั้งนี้ CoQ10 พบได้มากที่ผิวหนังชั้นนอก (Epidermis) มากกว่าที่ผิวหนังชั้นใน (Dermis) ซึ่งผิวหนังชั้นนอกเป็นชั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากรังสี UVA การมี CoQ10 บริเวณผิวหนังชั้นนอกจึงเป็นข้อดีอีกประการหนึ่งที่จะช่วยขจัดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอยและความหมองคล้ำได้นั่นเอง นอกจากนี้ CoQ10 ยังเปรียบเสมือนแหล่งผลิตพลังงานชั้นดีให้กับเซลล์ผิวหนังอีกด้วย

CoQ10 มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เพราะถ้าหากร่างกายขาด Coenzyme Q10 เซลล์ในร่างกายจะหยุดทำงานทันที เพราะไม่สามารถผลิตพลังงานต่าง ๆ ให้แก่เซลล์ได้นั่นเอง

CoQ10 มีคุณสมบัติคล้ายกับวิตามินอี คือ ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ และช่วยเพิ่มพลังงานที่สำคัญให้แก่ร่างกาย รวมถึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

CoQ10 มีส่วนช่วยในโรคเกี่ยวกับเหงือก เนื่องจากเหงือกทำหน้าที่ในการยึดและพยุงฟันให้คงอยู่อย่างสมดุลในช่องปาก และโรคเหงือกที่เป็นปัญหาและพบได้บ่อย ๆ ล้วนเกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่ถูกปล่อยให้สะสมอยู่บนตัวฟัน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต่าง ๆ CoQ10 ในร่างกายจะมีคุณสมบัติในการช่วยลดและบรรเทาอาการเหงือกบวม รวมถึงอาการฟันโยก (Periodontitis) ได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยรักษาโรคเหงือก และชะลอความผิดปกติและการดำเนินของโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย

CoQ10 สำคัญมากในผู้สูงอายุ เนื่องจากสภาพร่างกายจะเสื่อมโทรมตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง การรับประทาน CoQ10 จะช่วยในการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ และสร้างเซลล์ใหม่ ๆ ทดแทนเซลล์เก่าที่เสื่อมสภาพ ทำให้ร่างกายรู้สึกเหมือนมีพลังขึ้นมาทันที ทั้งนี้ในผู้สูงอายุโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท สามารถพบได้มากที่สุด การได้รับ CoQ10 เข้าไปในร่างกาย จะสามารถช่วยป้องกันโรคดังกล่าวได้เนื่องจากใน CoQ10 มี ฟีนีลอะลานิน (Phenylalanine) ซึ่งช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์ ให้กระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่นตื่นตัว ลดความซึมเศร้า ช่วยให้ความจำและระบบประสาททำงานได้ดีขึ้น  และ CoQ10 ยังมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถช่วยปกป้องการทำลายของอนุมูลอิสระในสมองได้อีกด้วย

CoQ10 มีความสำคัญมากสำหรับผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพราะมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกได้ดี ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเกินไป CoQ10 จะยับยั้งไม่ให้คอเลสเตอรอลจับเป็นก้อนอุดตันเส้นเลือด จึงสามารถใช้ในการรักษาโรคหัวใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเนื่องจากเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ (Congestive heart failure) ทั้งนี้เนื่องจาก CoQ10 ทำให้หัวใจทำงานได้ดียิ่งขึ้น ร่างกายส่วนอื่น ๆ ก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไปด้วย เนื่องจากหัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

เนื่องจาก CoQ10 มีคุณสมบัติของการมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีคุณสมบัติในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ CoQ10 มีส่วนในการช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็งได้  มีงานวิจัยที่พบว่าในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระดับคอเลสเตอรอลสูงในกระแสเลือด และผู้ที่ได้รับยากลุ่ม Statin ควรจะรับประทานโคเอนไซม์ Q10 เพิ่มเติม เนื่องจากยากลุ่มดังกล่าวสามารถส่งผลต่อการยับยั้งการสร้าง CoQ10ในร่างกายได้ จึงเป็นสาเหตุให้ระดับ CoQ10 มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั่นเอง

CoQ10 ยังมีส่วนช่วยในการลดการเกิดอนุภาคออกซิไดซ์ของ LDL ที่เป็นคอเลสเตอรอลตัวที่ไม่ดีในกระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดอุดตันทำให้หัวใจขาดเลือดได้ และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลตัวที่ดี คือ HDL ในกระแสเลือด ซึ่งมีหน้าที่ในการขับคอเลสเตอรอลที่เกินความต้องการออกจากร่างกาย ดังนั้นยิ่งร่างกายมี HDL สูงจึงยิ่งเกิดผลดีต่อร่ายกายได้อีกด้วย การที่ร่างกายมี CoQ10 อย่างเพียงพอ จึงมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อคงความสมดุลและชะลอการเสื่อมสภาพของร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ปัจจัยที่ทำให้ CoQ10 ในร่างกายลดลง มีดังนี้

 

 อายุ : ระดับของ CoQ10 ที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นได้เองตามธรรมชาติในเนื้อเยื่อต่าง ๆ จะมีปริมาณมากที่สุดเมื่ออายุประมาณ 20 ปีเท่านั้น และหลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้ง่าย ๆ จากการที่ผิวหนังบริเวณใบหน้ามีริ้วรอยเหี่ยวย่นตามวัยนั่นเอง

โรคบางชนิด : เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวจากเลือดคั่ง อาการปวดเค้นบริเวณหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตาย ความดันโลหิตสูง โรคพาร์กินสัน และโรคหืด เป็นต้น ที่จำเป็นต้องได้รับประทานยาลดไขมันในกลุ่ม สแตติน (Statin) ซึ่งยากลุ่มนี้อาจเป็นสาเหตุให้ระดับของ  CoQ10  ในร่างกายลงได้ เนื่องจากขั้นตอนการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไขมันคอเลสเตอรอล จึงย่อมจะมีผลยับยั้งการสร้างโคเอนไซม์คิวเท็นไปด้วย

ผู้ที่เหมาะสมที่จะต้องเพิ่ม CoQ10 ให้แก่ร่างกาย

 

ผู้ที่ร่างกายอยู่ในภาวะอารมณ์เครียดและสับสน อาจเกิดจากการที่ร่างกายมี CoQ10 ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ระบประสาทและสมองทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ร่างกายจึงตอบสนองด้วยความเครียดและสับสนเนื่องจากขาดพลังงานสำคัญที่ช่วยในการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ผู้ที่ทำงานหนัก และต้องการรักษาระดับพลังงานในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ เนื่องจากการทำงานอย่างหนักนั้นร่างกายย่อมต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก และเมื่อร่างกายสูญเสียพลังงานออกไปเป็นจำนวนมากยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนล้า เหนื่อย เพลีย และอาจนำมาซึ่งการเจ็บป่วยได้ในที่สุด

ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วย หรือภูมิคุ้มกันลดลง การที่ร่างกายเจ็บป่วยย่อมแสดงให้เห็นว่าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเสื่อมถอยลง ดังนั้นการเพิ่ม CoQ10 ให้แก่ร่างกายจึงเป็นการเพิ่มพลังงานและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงเป็นปกติได้ในที่สุดนั่นเอง

ผู้ที่มีความเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง หากร่างกายมี CoQ10 ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้เซลล์ต่าง ๆ ในหัวใจทำงานไม่มีประสิทธิภาพ โดยเซลล์บางส่วนอาจไม่บีบตัวทำงาน ทำให้เซลล์ที่เหลือปรับตัวโดยบีบตัวให้ถี่ขึ้น ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจึงรู้สึกใจสั่น หัวใจเต้นแรง วิงเวียนศีรษะ เนื่องจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และอาจรู้สึกชาที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า เพราะขาดเลือด รวมถึงมีอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายมากกว่าปกตินั่นเอง

ผู้ที่กำลังต้องการพลังงานเพื่อต่อสู้กับโรคหรือเชื้อโรค เนื่องจาก CoQ10 มีคุณสมบัติของการมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีคุณสมบัติในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ CoQ10 มีส่วนในการช่วยป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงโรคอื่น ๆ ได้

ผู้สูงอายุและนักกีฬา เนื่องจาก CoQ10 มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีผลทำให้กล้ามเนื้อของนักกีฬาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดอาการล้าของกล้ามเนื้อได้ ในผู้สูงอายุก็มีส่วนช่วยในการลดอาการปวดเมื่อยล้ากล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกัน

ปริมาณของ CoQ10 ที่เหมาะสมในการแนะนำให้รับประทานเสริม

 

      ในการรับประทาน CoQ10 เป็นอาหารเสริม ควรบริโภคในปริมาณ 30-50 มิลลิกรัมต่อวัน CoQ10 ในรูปของอาหารเสริม เป็นสารอาหารที่ละลายได้ดีในไขมัน

 

จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปของน้ำมันจึงจะสามารถทำให้ร่างกายดูดซึมได้ดีมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ควรเก็บให้พ้นแสง ในอุณภูมิปกติหรือเย็นแต่ห้ามแช่แข็งเนื่องจากอยู่ในรูปของน้ำมันนั่นเอง

 

 สำหรับผู้ที่รับประทานยาสแตติน (Statin) เพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล จะมีส่วนทำให้ CoQ10 ในร่างกายลดลงได้อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรรับประทาน CoQ10ร่วมกับสแตตินด้วย โดยไม่ต้องหยุดการรับประทานยาสเตติน เนื่องจากการรับประทาน CoQ10 ยังไม่พบว่ามีผลข้างเคียงใด ๆ ทั้งในรูปแบบการรับประทานเดี่ยว ๆ และการรับประทานร่วมกับยาสแตติน

 

            ทั้งนี้การรับประทาน CoQ10 อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 2 เดือนขึ้นไป กว่าจะเห็นผล และขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน สำหรับวัยผู้ใหญ่คือ 30 มิลลิกรัม แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคชรา หรือเป็นโรคอื่น ๆ ควรรับประทาน 50 – 100 มิลลิกรัมต่อวัน

 

ผลข้างเคียงจากการรับประทาน CoQ10 คือ หากรับประทานมากเกินไปจะเกิดอาการ คลื่นไส้อาเจียน ผื่นคัน ปวดหัว ท้องเสีย เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ มึนงง หงุดหงิด กระสับกระส่าย ตาแพ้แสง อ่อนเพลีย และครั่นเนื้อครั่นตัวได้ ซึ่งนั่นเป็นเพียงอาการข้างเคียงซึ่งเกิดจากการปรับระบบต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อให้เข้าสู่ภาวะสมดุลนั่นเอง

 

ข้อห้ามในการรับประทาน CoQ10

 

ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ เพราะการรับประทาน CoQ10 จะมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดยิ่งลดลงไปอีก เนื่องจากใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลสูงนั่นเอง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเลือด เพราะ CoQ10 จะออกฤทธิ์ไปลดปริมาณเกล็ดเลือดได้ ทำให้เลือดออกได้ง่าย และหยุดยากมากกว่าคนปกติ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ เนื่องจาก CoQ10 มีส่วนช่วยในการขยายหลอดเลือดจึงมีผลดีต่อการลดความดันโลหิต ซึงถ้าผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำอยู่แล้วก็จะยิ่งมีผลให้ความดันต่ำลงจนเกิดอันตรายได้

หญิงตั้งครรภ์ และแม่ที่ให้นมลูก เนื่องจากคุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์ หรือเพิ่งคลอด มีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงไม่ควรที่จะเสี่ยงต่อการนำสารแปลกปลอมที่นอกเหนือจากที่ร่างกายผลิตขึ้นเองได้มาใช้ เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาได้

ยาที่ควรระมัดระวังการใช้ร่วมกับโคเอนไซม์คิวเทน

 

ยารักษาโรคมะเร็ง เช่น ยาเคโมเทอร์ราปี (Chemotherapy) CoQ10 เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระอาจมีผลลดประสิทธิภาพของยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง

ยาลดความดันโลหิต เช่น ยา Captopril, ยา Enalapril , ยา Losartan, ยา Valsartan, ยา Diltiazem, ยา Amlodipine, ยา Hydrochlorothiazide และยา Furosemide(Lasix®) เนื่องจาก CoQ10 มีผลลดความดันโลหิต ดังนั้น การใช้โคเอนไซม์คิวเทนร่วมกับยาลดความดันโลหิต ควรระมัดระวังการเกิดความดันโลหิตต่ำเกินไปจนอาจเป็นลมได้

ยาวาร์ฟาริน (Warfarin: Coumadin®) ยานี้ใช้เพื่อชะลอการแข็งตัวของเลือด โดย CoQ10 ออกฤทธิ์ช่วยให้เลือดแข็งตัว ดังนั้นการใช้ CoQ10 อาจลดประสิทธิภาพของยาได้ ดังนั้น หากมีปัญหาการแข็งตัวของเลือดผิดปกติอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ CoQ10 นั่นเอง

   **อ้างอิงข้อมูลยาที่ควรระมัดระวังการใช้ร่วมกับโคเอนไซม์คิวเทน : https://www.honestdocs.co/coenzyme-q10